• Thu. Nov 21st, 2024

YuuPen

อยู่เป็น ใช้ชีวิตให้เป็น

มธ.คว้าแชมป์โลก! เกมบริหารธุรกิจ งัดกลยุทธ์สุดเฉียบ เอาชนะ 61 ทีมสถาบันชั้นนำ

May 4, 2021

“ทีมธรรมศาสตร์” คว้าแชมป์โลกในการแข่งขันบริหารธุรกิจของ MIT ผ่านเกมบริหารโรงงานเสมือน วางกลยุทธ์สุดเฉียบ! จบสองวันเหลือเงินสดมากที่สุด เอาชนะคู่แข่ง 61 ทีมทั่วโลก

นักศึกษาโครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจ (MBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในนามทีม “tbs-cm1” สามารถเอาชนะผู้เข้าร่วมแข่งขันอีก 61 ทีม จากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน “บริหารธุรกิจผ่านเกมจำลอง” ในรายการ Operations Simulation Competition 2021 (OpsSimCom 2021) ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับโลกที่จัดขึ้นโดย MIT Sloan School of Management สถาบันในเครือ Massachusetts Institute of Technology (MIT)

สำหรับการแข่งขันดังกล่าว จะเปิดให้ผู้เข้าแข่งขันทำการบริหารโรงงานเสมือน ผ่านเกม Medica Scientific เป็นระยะเวลา 2 วัน โดยเวลาในตัวเกมจะแข่งขันกันทั้งสิ้น 388 วัน แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1. ช่วงข้อมูลเริ่มต้ม 50 วัน 2. ช่วงที่ผู้เข้าแข่งขันสามารถเข้าไปบริหาร 288 วัน 3. ช่วงที่ห้ามไม่ให้บริหาร แต่ดูผลของการวางแผนอีก 50 วัน ซึ่งจะตัดสินผลแพ้ชนะจากทีมที่มีเงินสดเหลือมากที่สุด

นายอิสระ รุ่งวิทยกุล สมาชิกในทีม “tbs-cm1” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ความยากของเกมนี้อยู่ที่มี 2 ไลน์การผลิต และมีความผันผวนด้านราคาขายในตลาด นอกจากนี้ ข้อมูลในส่วนของ 50 วันแรก ยังไม่เพียงพอต่อการวางแผนดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ที่แม่นยำ เพราะการตัดสินใจ 1 ครั้ง จะมีผลต่อเกมถึง 6 วัน และยังต้องมีมุมมองด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource) และการเงิน (Finance) ด้วย เนื่องจากทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันสามารถกู้เงินได้โดยไม่มีวงเงินจำกัด แต่จะต้องเสียดอกเบี้ยถึง 36.5% ต่อปี และค่าธรรมเนียมอีก 2% ฉะนั้น การตัดสินใจกู้เงินมาลงทุนจึงเป็นสิ่งที่ต้องรอบคอบมาก หากกู้มากเกินไปจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงจนไม่มีกำไรเลย

อิสระ รุ่งวิทยกุล สมาชิกในทีม “tbs-cm1” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อิสระ รุ่งวิทยกุล สมาชิกในทีม “tbs-cm1” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายอิสระ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ชนะการแข่งขัน คือ การวิเคราะห์สภาพตลาด ต้นทุน และราคาขายที่ได้กำไรสูงที่สุด โดยทีมของเราใช้กลยุทธ์ที่เน้นการกู้เงินระยะสั้นมาลงทุนในกิจการก่อน เร่งกำลังการผลิต และลดต้นทุนให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งจากการกู้เยอะๆ ทำให้ในช่วงแรกอันดับของเราแทบจะอยู่ท้ายๆ ตารางเลย แต่ด้วยกำลังผลิตที่สูงกว่า ต้นทุนที่ไม่แพง ทำให้เมื่อมีโอกาสทำกำไร เราก็จะทำกำไรได้มากกว่าคู่แข่ง และกำไรที่เราทำได้ ก็เยอะกว่าต้นทุนทางการเงินที่ต้องเสียไป เราจึงสามารถใช้หนี้ได้หมดในวันที่ 225 ของเกม พอไม่มีหนี้แล้ว อันดับของเราก็ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจนมาอยู่อันดับที่ 2 ในช่วง 8 ชั่วโมงสุดท้าย

“จุดพลิกที่ทำให้เราชนะ คือ การตัดสินใจในชั่วโมงสุดท้ายของเกม โดยเราใช้ Strategy ขายสินค้าให้หมด ไม่ให้มีของเหลือ และขายเครื่องจักรทิ้งให้พอดีที่สุดที่ยังสามารถผลิตสินค้าต่อได้ทันเวลา ซึ่งผลการดำเนินงานใน 50 วันสุดท้าย คือ เราไม่มีของเหลือในไลน์การผลิตเลย จึงเบียดขึ้นไปเป็นที่ 1 ได้แบบเฉียดฉิว” นายอิสระ กล่าว

นายภูริภัทร์ เพชรดี สมาชิกในทีม “tbs-cm1” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในเกมนี้ ทั้งความรู้ธุรกิจโดยรวมที่ได้มาจากมหาวิทยาลัย คือ เราต้องรู้ว่าเราอยากให้ธุรกิจของเราเป็นแบบไหน ทิศทางใด และต้องทำอะไรบ้าง เช่น วิชาจัดการการลงทุน ซึ่งจะเน้นไปที่ผลของการลงทุนและการจัดการความเสี่ยง รวมไปถึงทักษะการคำนวณที่ทำให้เราเลือกได้ว่าจะวางกลยุทธ์ไปในทิศทางใด เพื่อไปให้ถึงจุดที่เกิดประโยชน์สูงสุด

ภูริภัทร์ เพชรดี สมาชิกในทีม “tbs-cm1” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภูริภัทร์ เพชรดี สมาชิกในทีม “tbs-cm1” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ เรายังต้องมีความรู้เกี่ยวกับตัวเกม ต้องเข้าใจว่านี่เป็นเกมจำลอง ดังนั้น กฎในเกมอาจไม่ตรงตามที่เราเข้าใจเสมอไป บางครั้งอาจไม่สมเหตุสมผลในความคิดเรา แต่มันก็เป็นกฎที่ยุติธรรม ทุกทีมมีข้อจำกัดเดียวกัน ฉะนั้นเราต้องรู้จักการปรับตัวภายใต้กฎนี้ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ความรู้เกี่ยวกับเพื่อนร่วมทีม ใช้จุดเด่นของทุกคนมาร่วมกัน เช่น ตนเองจะดูเรื่องกลยุทธ์และแนวทางการเล่น ส่วนเพื่อนก็จะดูเรื่องการคำนวณ และแนวทางการเล่นเกมที่ดีที่สุด

“ทฤษฎีหรือแนวทางการเล่นของเราไม่ใช่เรื่องลอยๆ เพราะเรามีตัวเลขมาสนับสนุนในทุกหลักการที่จะใช้ และเราทั้งสองก็มีการท้าทายความคิดของกันและกันเสมอ” นายภูริภัทร์ กล่าว

นายภูริภัทร์ กล่าวด้วยว่า การเรียนต่อที่ MBA ธรรมศาสตร์ มีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันนี้ เพราะในหลายหัวข้อที่เรียนเป็นการเรียนที่ลึกและเจาะจง เคยมีคำถามว่าเหตุใดต้องเรียนลึกขนาดนี้ แต่พอถึงเวลาที่ได้นำความรู้ออกมาใช้ก็เข้าใจ การมีความรู้ที่มากพอจะทำให้การตัดสินใจถูกต้องและมีหลักการ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับใช้ในอาชีพในอนาคตด้วย

Sources: https://mgronline.com/qol/detail/9640000042101